ดนตรีเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเรามาอย่างยาวนานมากๆ ในสมัยก่อนเราอาจจะฟังเพลงจาก วิทยุ เทป แผ่นซีดี และในยุคที่เริ่มเจริญรุ่งเรืองด้านเทคโนโลยีอีกหน่อยอย่าง MP3 พกพา เพราะการฟังเพลงมันช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้จริงๆ นะ โดยเฉพาะเวลาที่เรารู้สึกเหงา มันเหมือนมีเพื่อนที่รู้ใจมาอยู่ข้างๆ เลยละ แล้วมันจะดีแค่ไหนกันหากเราสามารถฟังเพลงโปรดที่ชอบได้ตลอดเวลา พี่อะเครุจึงได้รวบรวม 12 แอปฟังเพลงยอดนิยม ที่จะช่วยให้เพื่อนๆ ได้ฟังเพลงโปรด สร้างเพลย์ลิสต์ที่ชอบ เอาไว้ฟังระหว่างเดินทาง หรือเป็นเพื่อนคู่ใจยามเหงาได้อย่างสบายๆ
สารบัญ
วิธีเลือกแอปพลิเคชันฟังเพลง
ในปัจจุบันนี้มีแอปพลิเคชันเพลงให้ดาวน์โหลดหลากหลายมากๆ ซึ่งเราก็ต้องเลือกให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเองด้วย เพราะในแต่ละแอปพลิเคชันมีความแตกต่างกัน บางคนอาจแค่อยากฟังเพลงเฉยๆ ก็ไม่จำเป็นต้องโหลดแอปเพลงที่มีวิทยุ หรือพ็อดคาส เพราะยิ่งมีข้อมูลในตัวแอปพลิเคชันมากเท่าไหร่ พื้นที่ในการจัดเก็บในโทรศัพท์ยิ่งน้อยลงค่ะ อาจจะไม่ถูกใจเพื่อนๆ ที่ชื่นชอบการถ่ายรูป แล้วมีพื้นที่หน่วยความจำในเครื่องจำกัด โดยวิธีเลือกแอปพลิเคชันง่ายๆ เริ่มจาก
- ดูคะแนนรีวิว จากทางด้านล่างของตัวแอปพลิเคชันให้มีแนวโน้มไปทางด้านบวก เพราะแอปบางตัวมีความไม่เสถียรของการใช้งาน เช่น กระตุก ค้าง หรือแม้แต่มีโฆษณาจุกจิกกวนใจบ่อย ทำให้ผู้ฟังได้รับอรรถรสจากการฟังเพลงได้ไม่เต็มที่ค่ะ
- ดูไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เพื่อช่วยในการประหยัดพื้นที่หน่วยความจำในโทรศัพท์ และยังทำให้เราได้ฟังในสิ่งที่เราต้องการจริงๆ เราต้องรู้จักแนวของตนเองว่าชอบฟังประเภทไหน ป๊อป ร็อก อินดี้ เรื่องเล่า พ็อดคาสวิทยุ ข่าว ฯลฯ เพื่อที่จะได้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง
- ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมจ่ายเงิน เพื่อฟังเพลงนะ สำหรับคนที่ไม่ได้ติดการฟังเพลงมาก แนะนำว่าควรเลือกแอปที่มีให้บริการฟรี หรือแอปโหลดเพลงโดยเฉพาะค่ะ แต่ถ้าใครเป็นคนที่ชื่นชอบการฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ หรือติดฟังพ็อดคาสมากๆ แนะนำให้หาแอปพลิเคชันดาวน์โหลดแบบที่เสียตังค์ดีกว่า เพราะเราจะได้สิทธิพิเศษมากมาย อย่างการได้ฟังเพลงยอดฮิต หรือการฟังเพลงไม่สะดุดโดยมีโฆษณามาคั่นขัดจังหวะค่ะ
1.JOOX
Joox แอปพลิเคชันฟังเพลงที่คนไทยโหลดใช้กันมากที่สุด เป็นมิวสิคสตรีมมิ่งสำหรับคนที่รักการฟังเพลง มีเพลงที่หลากหลายสไตล์ให้เพื่อนๆ เลือกฟังแบบ Non-Stop สามารถฟังได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ แทบเล็ต และคอมพิวเตอร์ผ่านทางเว็บไซต์ Joox นอกจากนี้ยังสามารถสร้างเพลย์ลิสต์โปรดเก็บไว้ฟังแบบออฟไลน์ได้ด้วยนะ ยิ่งไปกว่านั้นหากต้องการฟังเพลงแบบไม่มีโฆษณาคั่นให้กวนใจ และโหลดเพลงเพิ่มได้แบบไร้อินเตอร์เน็ต เพื่อนๆ สามารถเลือกการสมัครแบบ VIP หรือหากไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายก็ทำได้โดยร่วมกิจกรรมกับทางJoox ก็สามารถรับสิทธิ์ VIP ฟังเพลงแบบฟรีๆ โดยไม่มีโฆษณามาขัดจังหวะแล้วค่ะ ดีขนาดนี้ต้องรีบโหลดมาใช้กันแล้วนะ
ข้อดี | มีเพลงหลากหลายแนว แม้แต่เพลงสำหรับการออกกำลังกาย และที่เหนือความคาดหมายอย่าง บทสวดมนต์ มีคาราโอเกะให้ร้องเพลงอวดเพื่อนๆ ชาว Joox ได้ด้วย สามารถแชร์เนื้อร้องผ่านสตอรี่ และฟีดไอจีได้ และฟีเจอร์อื่นๆ อีกมากมาย ที่จะมีอัพเดตอยู่อย่างสม่ำเสมอ สร้างเพลย์ลิสต์ไว้ฟังแบบออฟไลน์ได้ ทดลองใช้ฟรี 30 วัน |
ข้อด้อย | เพลงสากล หรือเพลงไทยยอดนิยมส่วนมากจะต้องสมัคร VIP หรือแชร์เพลงลง Facebook เพื่อแลกสิทธิ์ VIP 24 ชั่วโมง |
ค่าบริการ | 19 บาท / 1 วัน 55 บาท / 1 สัปดาห์ 129 บาท / 1 เดือน 139 บาท / 1 เดือน (3 บัญชี) 279 บาท / 3 เดือน 509 บาท / 6 เดือน 990 บาท / 1 ปี |
ช่องทางการดาวน์โหลด | App Store (IOS), Play Store (Android) |
2. Spotify
แอปพลิเคชันฟังเพลงที่ได้รับความนิยมรองลงมาคือ Spotify แอปที่รวบรวมเพลงหลากหลายสไตล์ รวมถึงพ็อดคาสหลายแนว หรือแม้แต่เสียงดนตรี: ธรรมชาติ, นั่งสมาธิ, ASMR และอื่นๆ ถ้าเพื่อนๆ ไม่ชอบอ่านหนังสือเท่าไหร่ Spotify เขามีหนังสือเสียงมาให้เพื่อนๆ เลือกฟังได้ด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ นิทาน เรื่องเล่าหลากหลายแบบ มีทั้งของไทย และต่างประเทศ เอาไว้ฟังแก้เหงา หรือฝึกภาษาก็ได้นะ
ข้อดี | มีเพลย์ลิสต์ให้เลือกเยอะมากๆ ฟังได้ไม่ซ้ำ ระบบจะช่วยสร้างเพลย์ลิสต์ให้เราอัตโนมัติ โดยอิงจาก เพลงที่เราเข้าฟังบ่อย สามารถเลือกฟังเพลงได้เอง โดยไม่จำกัดการกดข้าม (Skip) โหลดมาฟังแบบออฟไลน์ได้ ทดลองใช้ฟรี 30 วัน |
ข้อด้อย | มีโฆษณามาคั่น สำหรับผู้ใช้ฟรี |
ค่าบริการ | 13 บาท / 1 วัน 39 บาท / 1 สัปดาห์ 129 บาท / 1 เดือน 199 บาท / 1 เดือน (6 บัญชี) 1,548 บาท / 1 ปี |
ช่องทางการดาวน์โหลด | App Store (IOS), Play Store (Android) |
3. Apple Music
Apple Music แอปฟังเพลงจากทาง Apple โดยเฉพาะ โดยความดีงามของแอปพลิเคชันตัวนี้คือ ทางค่ายได้มีการลิงก์เพลงทั้งหมดที่อยู่ใน iTunes Store ที่เป็นแหล่งซื้อขายเพลงรายใหญ่ที่สุด พร้อมทั้งรายการวิทยุสดจาก DJ ชื่อดังมาจัดรายการ และเหมาะมากสำหรับเพื่อนๆ ที่อาจจะไปได้ยินเพลงที่อื่นมาแล้วชื่นชอบ หรือแม้แต่เพลงที่ร้องจนติดปาก แต่ไม่รู้จักชื่อเพลง หรือนึกเพลงไม่ออก ก็สามารถเสิร์ชหาเพลง โดยการพิมพ์เนื้อร้องลงไปได้เลย ระบบก็จะทำการค้นหามาให้เพื่อนๆ ได้ฟังอย่างง่ายๆ เลยค่ะ
ข้อดี | ถูกลิขสิทธิ์ 100 % สามารถโหลดมาฟังแบบออฟไลน์ได้ ค้นหาเพลงจากเนื้อเพลงได้ รองรับอุปกรณ์ของ Apple ทั้งหมด ทดลองใช้ฟรี 90 วัน |
ข้อด้อย | สายเพลงอินดี้จัดๆ อาจหาฟังไม่ได้จากแอปตัวนี้ เพราะว่าไม่ได้อยู่ในระบบของ iTuneStore เพลงหายบ่อย |
ค่าบริการ | 129 บาท / 1 เดือน 199 บาท / 1 เดือน (6 บัญชี) 1,300 บาท / 1 ปี |
ช่องทางการดาวน์โหลด | App Store (IOS), Play Store (Android) |
4. YouTube Music
คงไม่มีใครไม่รู้จักเว็บไซต์ Youtube แต่หากเพื่อนๆ ต้องการฟังเพลงอย่างเดียว ทางยูทูปเขาได้ทำ Youtube Music มาให้โดยเฉพาะ มีศิลปินให้เลือกมากมาย รวมถึงเพลง Cover ก็มีให้เลือกฟัง อีกทั้งสามารถดู MV เพลงนั้นๆ ได้อีกด้วยนะ และพิเศษมากๆ สำหรับคนที่สมัคร Youtube Premium เพราะสามารถฟังเพลงได้อย่างมีความสุข โดยไม่มีโฆษณามาคั่นให้เสียอารมณ์ด้วย
ข้อดี | ฟังเพลงแบบไม่มีโฆษณาคั่น ปิดจอได้ โดยเพลงยังคงเล่นอย่างต่อเนื่อง เซฟวิดิโอดูแบบออฟไลน์ได้ ทดลองใช้งานฟรี 30 วัน |
ข้อด้อย | มีโฆษณาคั่น สำหรับคนที่ไม่ได้สมัครแบบ Premium ไม่สามารถใช้ฟังก์ชันได้หลากหลายเท่าแบบพรีเมียม |
ค่าบริการ | 129 บาท / 1 เดือน (Play Store,Website) 169 บาท / 1 เดือน (IOS) 199 บาท / 1 เดือน (Play Store, Website : แชร์ได้ 5 คน) 259 บาท / 1 เดือน (IOS : แชร์ได้ 5 คน) |
ช่องทางการดาวน์โหลด | Play Store (Android), App Store (IOS) |
5. Soundcloud
เพื่อนๆ คนไหนที่ชื่นชอบการแต่งเพลง และร้องเพลง แต่ยังไม่มีที่ปล่อยของ แนะนำเลย แอปพลิเคชัน Soundcloud เราสามารถอัปโหลดเพลงของเราลงบน Sharing Platform ให้คนอื่นฟังได้ด้วย ดีไม่ดีอาจจะมีคนเห็นแววในตัวเรา แล้วเราได้ขึ้นไปเป็นศิลปินในอนาคตก็ได้นะ ในส่วนของเพลงในแอปตัวนี้ส่วนมากจะออกแนวเพลงสากลอินดี้ ที่เราสามารถฟังได้แบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และเราอาจจะได้ฟัง Hidden Track จากศิลปินคุณภาพอีกด้วย จากแอปนี้เท่านั้น พิเศษมากๆ เลยค่ะ เราว่ามันคุ้มมากนะ สำหรับคนที่ชอบร้องเพลง แต่งเพลง ควรมี
ข้อดี | มี Tag ในการค้นหาแนวเพลงที่ชื่นชอบ สามารถอัพเพลงที่เราร้อง ลงบน Sharing Platform ได้ แนวเพลงอินดี้เยอะมาก แชร์เพลงลงบนสตอรี่ไอจีได้ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ |
ข้อด้อย | เหมาะกับคนฟังเพลงแนวสากลอินดี้มากกว่า เพลงประเภท Cover, Remix เยอะกว่าเพลงต้นฉบับ |
ค่าบริการ | ฟรี |
ช่องทางการดาวน์โหลด | Play Store (Android) |
6. TuneIn Radio
เพื่อนๆ ที่ชอบฟังเพลงตามวิทยุ เพราะต้องการความหลากหลาย หรือแนวเพลงใหม่ๆ ต้องโหลดแอปพลิเคชันตัวนี้ติดเครื่องไว้เลย เพราะ TuneIn Radio เป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมข่าวสารรายการวิทยุ AM และ FM จากต่างประเทศมากกว่า 100,000 สถานีทั่วโลก นอกจากนี้หากเพื่อนๆ อยากฟังเพลงหรือข่าวสารที่มีโฆษณาน้อยลงต้องเลือกสมัครเป็นสมาชิกค่ะ
ข้อดี | มีข่าวสารอัปเดตสดใหม่ทุกวัน ได้ฟังเพลงหลากหลายแนว มีพ็อดคาสให้เลือกฟังหลายช่อง ใช้สำหรับฝึกฟังภาษาอังกฤษได้ดี ใช้งานง่าย |
ข้อด้อย | มีโฆษณาเยอะสำหรับผู้ที่เลือกใช้งานฟรี |
ค่าบริการ | 360.60 บาท / เดือน (Play Store) 299 บาท / เดือน (App Store) |
ช่องทางการดาวน์โหลด | Play Store (Android) IOS (App Store) |
7. Tidal
ถัดมาที่แอป Tidal จุดเด่นที่สุดของแอปพลิเคชันนี้ก็คือ “คุณภาพของเสียงแบบจัดเต็ม” โดยผู้สร้างแอปตัวนี้ได้ใช้เลือกไฟล์เพลงประเภท Loseless ที่จะให้เสียงที่คุณภาพสูงมากๆ เป็นไฟล์ที่ไม่มีการบีบอัดใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนซื้อแผ่นซีดีแท้มาเปิดฟังเลยล่ะ โดยที่ศิลปินส่วนมากจะเลือกปล่อยเพลงของตัวเองบนแอปพลิเคชันตัวนี้ก่อนเสมอ เนื่องจากเป็นเสียงที่ได้มาตรฐานที่สุด
ข้อดี | มีเพลงสากลให้ฟังหลากหลายกว่า 70 ล้านเพลง มีคอนเทนต์อัปเดตเกี่ยวกับศิลปินอยู่ตลอดเวลา ไฟล์คุณภาพ Loseless โหลดฟังแบบออฟไลน์ได้ ทดลองใช้ฟรี 30 วัน |
ข้อด้อย | มีแค่เพลงสากลเท่านั้น ค่าบริการรายเดือนสูงถ้าเปรียบเทียบกับแอปอื่นๆ |
ค่าบริการ | 179 บาท / เดือน 199 บาท / เดือน (แชร์ได้ 6 คน) |
ช่องทางการดาวน์โหลด | Play Store (Android) App Store (IOS) |
8. Fungjai
เพื่อนๆ คนไหนชอบฟังเพลงแนวอินดี้จัดๆ ต้องโหลดแอปตัวนี้ติดเครื่องไว้เลย เพราะเขาทำออกมาเพื่อคนรักเสียงเพลงแนวอินดี้จริงๆ โดยปัจจุบันมีเพลงมากกว่า 10,000 เพลงจาก 3,000 ศิลปิน แทบทุกค่าย อีกทั้งใช้งานง่ายมากๆ มีทั้งเพลงเก่า และเพลงใหม่ บางเพลงก็หาฟังได้ที่แอปนี้เท่านั้นด้วยนะ สายอินดี้ต้องจัดด่วนๆ
ข้อดี | มีเพลงอินดี้ให้ฟังหลากหลายแนว ไม่มีโฆษณาคั่น ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ |
ข้อด้อย | เพลงสากลน้อยถ้าเทียบกับแอปฟังเพลงตัวอื่นๆ |
ค่าบริการ | ฟรี |
ช่องทางการดาวน์โหลด | Play Store (Android), Apple Store (IOS) |
9. Deezer
เป็นแอปพลิเคชันสตรีมมิ่งเพลง ที่มีเพลงมากกว่า 56 ล้านเพลงทั่วโลกมารวมอยู่ที่นี่ ความพิเศษของแอป Deezer คือผู้ที่สมัครสมาชิกแบบ Deezer Hifi จะได้ฟังเพลงด้วยไฟล์ Lossless ทุกเพลง เป็นไฟล์ที่เสียงดีที่สุดในบรรดาไฟล์เพลงทุกประเภทเลยนะ แล้วยังสามารถดาวน์โหลดเพลงมาฟังแบบออฟไลน์ได้อีกด้วย เสียงเพลงคุณภาพดี ฟังสนุก ต้องตำตัวนี้ด่วนๆ
ข้อดี | มีฟีเจอร์ SongCatcher ช่วยค้นหาเพลงที่เราไม่รู้จัก สมาชิก D-tac ใช้ฟรี มีแจ้งเตือนเพลงใหม่ของศิลปินคนโปรดที่เราเลือกไว้ แชร์เพลงให้เพื่อนๆ ของเราหรือคนพิเศษฟังได้ด้วย โหลดฟังแบบออฟไลน์ได้ ทดลองใช้ฟรี |
ข้อด้อย | มีโฆษณาคั่น สำหรับผู้ใช้บริการฟรี เพลงไทยน้อย ไม่ค่อยหลากหลาย ฟีเจอร์ต่างๆ น้อยมากถ้าเทียบกับแอปพลิเคชันฟังเพลงตัวอื่น กดข้ามเพลงได้แค่ 6 เพลงต่อเดือนเท่านั้น |
ค่าบริการ | 129 บาท / 1 เดือน (Premium) 199 บาท / 1 เดือน (แชร์ได้ 6 คน) 258 บาท / 1 เดือน (Hifi) |
ช่องทางการดาวน์โหลด | Play Store (Android) |
10. Audiomack
สายปาร์ตี้ เพลงสากลต้องจัดกับแอป Audiomack แอปพลิเคชันเพลงที่รวบรวมแนวเพลงสไตล์ ฮิปฮอป อิเล็กทรอนิกส์ เร็กเก้ และแดนซ์ฮอล มารวมตัวกันที่นี่ เป็นเพลงแนวสนุก มันส์ เปิดสังสรรค์ในงานปาร์ตี้ได้อย่างสบายๆ รวมถึงเพลงสากลฮิตๆ ก็มีมาให้ในแอปนี้ เรียกได้ว่าถูกอกถูกใจเพื่อนสายตี้แน่นอน
ข้อดี | เพลงสากลเป็นส่วนมาก สามารถดาวน์โหลดเพลงที่ชอบมาฟังแบบออฟไลน์ได้ แนวเพลง ฮิปฮอป อิเล็กทรอนิกส์ เร็กเก้ และแดนซ์ฮอล ไม่ต้องสมัครก็สามารถฟังได้ |
ข้อด้อย | เพลงไทยน้อยมาก มีโฆษณาคั่นสำหรับคนที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย |
ค่าบริการ | 150 บาท / เดือน |
ช่องทางการดาวน์โหลด | Play Store (Android) |
11. Whim Music
อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่จ่ายค่าบริการบนแอปพลิเคชัน Youtube ไม่ไหว เพราะ Whim Music เขาเป็นแอปที่สามารถโหลดเพลงจากช่อง Youtibe มาฟังได้ อีกทั้งไม่ต้องเปิดหน้าจอทิ้งไว้ให้เปลืองแบตเตอรี่ด้วยนะ นอกจากนี้ยังสามารถฟังพ็อดคาสได้หลากหลายด้วย แต่อาจจะไม่มากเท่า Spotify ค่ะ แนวเพลงสากล ไทย มีครบหมดค่ะ
ข้อดี | มีแนวเพลงหลากหลาย โหลดเพลงจาก Youtube มาฟังในแอปนี้ได้ แบบปิดจอ สามารถกำหนดเวลาให้เพลงปิดเองได้ |
ข้อด้อย | ไม่มีให้บริการบน IOS มีโฆษณาคั่นสำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย |
ค่าบริการ | 90-125 บาท / เดือน |
ช่องทางการดาวน์โหลด | Play Store (Android) |
12. 4Shared
4Shared เว็บไซต์ดาวน์โหลดเพลงยอดฮิตลงบนเครื่อง MP3 หรือแม้แต่ บนเครื่องคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันทางผู้ผลิตได้มีการพัฒนามาเป็นแอปพลิเคชันที่หาโหลดได้ง่ายๆ ผ่านแอป Play store สำหรับสมาร์ตโฟนระบบแอนดรอยด์ และIOS เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานได้อย่างครอบคลุม เพราะนอกจากจะดาวน์โหลดเพลงเอาไว้ฟังแบบออฟไลน์ได้แล้ว ยังสามารถฝากไฟล์รูปภาพ วิดิโอ หรือแม้แต่เอกสารต่างๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
ข้อดี | โหลดเพลงไว้ฟังออฟไลน์ได้ทั้งในคอมพิวเตอร์ และสมาร์ตโฟน สามารถเก็บไฟล์ได้หลากหลาย ไฟล์รูปภาพ วิดิโอ และเอกสารต่างๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ |
ข้อด้อย | พื้นที่การใช้งานไม่เยอะมาก มีโฆษณา |
ค่าบริการ | ฟรี |
ช่องทางการดาวน์โหลด | Play Store (Android) App Store (IOS) |
และทั้งหมดนี้เป็นแอปพลิเคชันฟังเพลงที่มีคนโหลดใช้กันมากที่สุด แอปบางตัวเพื่อนๆ อาจจะคุ้นเคยบ้าง แต่มันก็อาจจะมีบางตัวที่เพื่อนๆ ยังไม่รู้จัก พี่อะเครุอยากให้ลองไปหาโหลดเอาไว้ติดเครื่องกันนะ เพื่อที่เพื่อนๆ จะได้สร้างเพลย์ลิสต์เพลงโปรด เอาไว้ฟังแก้เบื่อได้ยังไงละ สุดท้ายอยากฝากว่า ถ้าเพื่อนๆ รู้จักสไตล์แนวเพลงที่ตัวเองชอบด้วยก็จะยิ่งดี เพราะแอปพลิเคชันฟังเพลงบางตัว สไตล์เพลงมันไม่ได้ตอบโจทย์เราขนาดนั้น พี่อะเครุหวังว่าบทความนี้ และข้อมูลทั้งหมดที่ได้รวบรวมมา จะเป็นแนวทางในการช่วยเพื่อนๆ ตัดสินใจดาวน์โหลดแอปพลิเคชันฟังเพลงที่ใช่ เอาไปฟังให้หนำใจเลยค่ะ