เราต่างรู้ดีว่าจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ที่หาทานได้จากอาหารเสริมหรือของหมักดอง เช่น กิมจิ โยเกิร์ต และนมเปรี้ยว เป็นสิ่งที่สามารถปรับปรุงระบบการทำงานของลำไส้ ระบบย่อยอาหาร และลดความเสี่ยงของการก่อโรคบางอย่างในร่างกายได้ แม้ว่าจะประโยชน์มากมายสารพัด แต่จุลินทรีย์ดีที่ว่าอาจจะไม่ถูกกับบางคนก็ได้ วันนี้เราจึงนำสาระเกี่ยวกับผลข้างเคียงในการทานโพรไบโอติกส์ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมาฝากทุกคน รู้ไว้จะได้ทานแบบระวังในปริมาณที่พอดีนะคะ
1. มีอาการแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย
คนส่วนใหญ่ไม่มีผลกระทบทางลบต่อโพรไบโอติกส์ แต่ก็มีคนจำนวนเล็กน้อยที่มักท้องอืดชั่วคราวหลังจากรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์เช่นกัน บางคนอาจมีอาการท้องผูกและรู้สึกหิวมากขึ้น สาเหตุหลักของผลข้างเคียงเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ถ้าต้องการหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาเหล่านี้ควรปรับพฤติกรรมการทาน ควรเริ่มต้นด้วยโพรไบโอติกส์ระดับต่ำและค่อยๆ เพิ่มระดับการทานทีละน้อย หากอาการไม่ดีขึ้นและเป็นเช่นนี้นานกว่า 2-3 สัปดาห์ แนะนำให้หยุดทานและไปปรึกษาแพทย์จะดีกว่า
2. สาร Amines ในอาหารอาจทำให้ปวดหัว
อาหารที่มีโพรไบโอติกส์สูง เช่น ชีสและกิมจิ มักมีกรดอะมิโนเอมีนที่เป็นส่วนประกอบของโปรตีนอยู่เป็นจำนวนมาก ตามด้วย histamine, tyramine, tryptamine และ phenylethylamine เอมีนสามารถกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มหรือลดการไหลเวียนของเลือด และกระตุ้นอาการปวดหัวในผู้ที่แพ้สารชนิดนี้ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่า Amines ก่อให้เกิดอาการปวดหัวหรือไมเกรนในบางคนโดยตรงหรือไม่
3. โพรไบโอติกส์ส่งผลต่อการเพิ่มระดับฮิสตามีน
โพรไบโอติกส์บางสายพันธุ์ส่งผลต่อการผลิตฮิสตามีนในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งฮิสตามีนเป็นโมเลกุลที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างขึ้นตามธรรมชาติเมื่อตรวจพบการคุกคามจากเชื้อแบคทีเรีย เมื่อฮิสตามีนเพิ่มขึ้น หลอดเลือดจะขยายตัวและนำเลือดไปยังบริเวณที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น ดังนั้นเซลล์ภูมิคุ้มกันจะสามารถเข้าไปในเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น กระบวนการนี้อาจทำให้เกิดอาการบวมในพื้นที่เซลล์ผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ และอาจทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น อาการคันและหายใจลำบาก เช่นเดียวกับโรคภูมิแพ้ ดังนั้นผู้ที่มีอาการแพ้ฮิสตามีนควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ส่งผลต่อการเพิ่มระดับฮิสตามีน โดยเฉพาะกลุ่มจุลินทรีย์จำพวกโพรไบโอติกส์
4. อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้
ผู้ที่มีอาการแพ้ง่ายควรอ่านฉลากบนอาหารเสริมที่มีโพรไบโอติกส์อย่างรอบคอบก่อนบริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงส่วนประกอบที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ อาหารเสริมบางชนิดมีสารก่อภูมิแพ้บางอย่าง เช่น ผลิตภัณฑ์นม ไข่ หรือถั่วเหลือง นอกจากนี้แลคโตสยังเป็นส่วนผสมที่พบได้ทั่วไปในอาหารเสริมโพรไบโอติกส์ นอกเหนือจากสารก่อภูมิแพ้ทั่วไปแล้ว อาหารเสริมบางชนิดยังมีโพรไบโอติกส์ซึ่งเป็นเส้นใยพืชที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ โดยประเภทที่พบบ่อยที่สุดคือแลคโตโลสอินนูลินและชนิดอื่นๆ เมื่ออาหารเสริมมีจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์และเส้นใยโพรไบโอติกส์อยู่รวมกันจะเรียกว่าซินไบโอติกส์ ก่อให้เกิดอาการแพ้ร่วมกับท้องอืดจึงควรเลือกซื้อและบริโภคอย่างระมัดระวัง
5. โพรไบโอติกส์เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
โพรไบโอติกส์ปลอดภัยสำหรับคนส่วนมาก แต่ในบางกรณีแบคทีเรียหรือยีสต์ที่พบในโพรไบโอติกส์ก็สามารถเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่มีแผลและทำให้เกิดการติดเชื้อได้ คนที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดมา อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของการติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำมากและไม่มีการติดเชื้อที่ร้ายแรงจนยากแก่การรักษา แต่ทั้งนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
จุลินทรีย์ดีมีประโยชน์ แต่อาจไม่ใช่คำตอบที่ใช่สำหรับบางคน หากใครมีอาการดังที่กล่าวมาก็ควรบริโภคอย่างระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวด้วยนะคะ
ที่มา: presslogic
ที่มาภาพ: kissunclinics,drmercola,helloyishi,daisyhealthandfitness,weheartit,jung.yoon,chuu,i.pinimg
Hi!! I'm Coojii อยากผ่อนคลายติดตามเรื่องราวไลฟสไตล์ชิคคูล คลิก Akerufeed โหลดความสุขสิ่งดีดี พร้อมรอส่งต่อกับทุกคนอยู่ที่นี่นะจ๊ะคนดี