
พบว่าอย่างน้อย 50% ของคนไข้สะเก็ดเงินจะมีอาการที่ศีรษะ เช่นเดียวกับอาการสะเก็ดเงินตามผิวหนังบริเวณอื่นๆ สะเก็ดเงินบนศีรษะมีได้ตั้งแต่อาการน้อยจนกระทั่งเป็นมาก และอาจลุกลามจนเลยตีนผมมาจนถึงหน้าผาก ต้นคอ ท้ายทอยหรือหลังหู เราจึงจะมาบอกว่าโรคสะเก็ดเงินคืออะไร มีอาการอย่างไร และควรรักษาอย่างไร ไปเริ่มกันเลยค่ะ!!
สารบัญ
โรคสะเก็ดเงินคืออะไร?
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อและไม่ใช่โรคติดต่อ รอยโรคมีลักษณะขึ้นเป็นผื่นหรือปื้นและมีเกล็ดสีเงินปกคลุม สามารถพบเกิดกับผิวหนังได้ทุกส่วน แต่ที่พบได้บ่อยคือ ผิวหนังส่วนข้อศอกและเข่าด้านนอก ผิวหนังส่วนด้านหลัง หลังมือ หลังเท้า หนังศีรษะ และใบหน้า ผู้ป่วยมักมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ นานแรมปีหรือตลอดชีวิต ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
everydayhealth
สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน
โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุในการเกิดที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาเชื่อว่า เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน (ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียว) เช่น พันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังส่วนนั้นแบ่งตัวเร็วกว่าปกติร่วมกับเกิดการอักเสบจึงเกิดเป็นปื้น (Plaque) หรือเป็นแผ่นหนา แดง คันและตกสะเก็ด
อาการของโรคสะเก็ดเงินที่ศีรษะ
อาการของโรคนี้มีหลายรูปแบบ ที่พบได้บ่อยคือ การเกิดผื่นเป็นปื้นผิดปกติบนผิวหนัง อาจเกิดเพียงจุดเดียวหรือหลายจุดพร้อม ๆ กันทั่วตัวก็ได้ โดยทั่วไปรอยโรคจะมีลักษณะเป็นปื้นหนา แห้ง แดง คัน และตกสะเก็ดเป็นสีเงิน เมื่อเกิดที่แขนหรือขาก็มักจะเกิดพร้อมกันทั้งข้างซ้ายและข้างขวา ซึ่งถ้าเป็นมากผู้ป่วยอาจมีเลือดออกในปื้นนี้ได้ และ/หรือลุกลามเข้าไปในเล็บ หรือมีการอักเสบของข้อต่าง ๆ ร่วมด้วย
ความเจ็บป่วยทางผิวหนังอย่างเช่น โรคผิวหนังอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) อาจมีอาการคล้ายสะเก็ดเงินได้ จุดต่างมีอยู่นิดหน่อยคือ ลักษณะของสะเก็ดเงินจะเป็นสีเงินและเป็นเงา ต่างจากผิวหนังอักเสบที่สะเก็ดจะมีสีเหลืองและเป็นน้ำมัน อาการนอกเหนือจากนี้จะคล้ายกัน อาจทำให้เข้าใจสับสนว่าเป็นโรคเดียวกันได้
fasthomeremedy
วิธีรักษาโรคสะเก็ดเงินที่ศีรษะ
หากสงสัยว่าเป็นโรคสะเก็ดเงินควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์จะให้การรักษาไปตามชนิดและความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงิน ตามแนวทางดังต่อไปนี้
1. เมื่อเกิดผื่น ทั้งผื่นคันหรือผื่นไม่คัน ที่อาการไม่ดีขึ้น
หรืออาการเลวร้ายลงภายหลังจากดูแลตนเองภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีสิ่งผิดปกติต่าง ๆ เช่น แผลเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ เกิดซ้ำในที่เดียวกันตลอด หรือผิวหนังมีก้อนเนื้อ ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 1 สัปดาห์หลังพบความผิดปกติ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคว่าไม่ใช่เกิดจากโรคมะเร็ง
2. สำหรับรอยโรคที่ผิวหนัง ในรายที่เป็นน้อย
(มีผื่นน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย โดยผื่นขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือจะเท่ากับพื้นที่ประมาณ 1%) มีรอยโรคเพียงไม่กี่แห่ง แพทย์จะให้ทาครีมสเตียรอยด์ เช่น ครีมไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์(Triamcinolone acetonide) หรือขี้ผึ้งน้ำมันดินหรือโคลทาร์ (Coal tar) ชนิด 1-5% หรืออาจใช้ทั้ง 2 สลับกัน เพื่อป้องกันการดื้อยา
everydayhealth
- ในรายที่เป็นมากขึ้น อาจหลีกเลี่ยงการใช้ครีมสเตียรอยด์ หรือใช้ทาเฉพาะบริเวณที่เป็นปื้นหนา และบางครั้งแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยอาบแดดในช่วงเวลา 10.00-14.00 น. โดยให้เริ่มอาบด้านละ 5-10 นาทีก่อน แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลานานขึ้น จนถึงขั้นทำให้เกิดรอยแดงเรื่อ ๆ ที่ผิวหนังภายใน 24 ชั่วโมงหลังอาบแดด ซึ่งส่วนใหญ่จะอาบแดดนานประมาณ 15-20 นาที โดยให้ทำประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะช่วยให้ผื่นยุบไปได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ (แสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลตจะมีฤทธิ์ทำให้ลิมโฟไซต์ชนิด T cells ตาย ส่งผลให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังชะลอลง จึงช่วยลดการเกิดเกล็ดเงินและการอักเสบของผิวหนังได้) แต่มีข้อควรระวัง คือ อย่าอาบแดดนานเกินไป และควรใช้ผ้าคลุมหน้าเพื่อป้องกันมิให้ผิวหน้าถูกแดดมากเกินไป และบางรายอาจแพ้แดดทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นมาได้
- ผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยทาขี้ผึ้งแอนทราลิน (Anthralin ointment) พร้อมกับการอาบแดด (สำหรับในโรงพยาบาลขนาดใหญ่อาจใช้วิธีฉายแสงอัลตราไวโอเลตบี (UVB) แทนการอาบแดดก็ได้) ซึ่งถ้าได้ผลผื่นจะยุบไปภายใน 3-4 สัปดาห์ แต่มีข้อควรระวังคือ ยาทาชนิดนี้อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ ถ้าพบอาการระคายเคืองควรหยุดใช้ยา และห้ามใช้ยานี้ทาบนใบหน้า ข้อพับ และอวัยวะเพศ ในบางกรณีแพทย์อาจเลือกใช้ยาทาชนิดอื่น ๆ เช่น แคลซิโปทรีน (Calcipotriene) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินดี, ทาซาโรทีน(Tazarotene) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอหรือเรตินอยด์ (ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์) เป็นต้น โดยอาจใช้เดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับยาอื่น หรือร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต
- นอกจากนี้แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการ เช่น ถ้ามีอาการคัน แพทย์จะให้ยาแก้แพ้, ถ้าผิวหนังแห้งจะให้ทาด้วย Petroleum liquid paraffin เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง, ถ้าเกล็ดหนามากแพทย์จะให้ยาละลายขุย เช่น ครีมยูเรียหรือกรดซาลิไซลิก, ถ้ามีอาการปวดหรือมีไข้ จะให้ยาแก้ปวดลดไข้ เป็นต้น
healthlive
3. สำหรับรอยโรคที่หนังศีรษะ
แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยสระผมด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน เช่น ทาร์แชมพู สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ส่วนในรายที่มีขุยที่หนังศีรษะมาก แพทย์อาจให้โลชั่นที่เข้าสเตียรอยด์ (Steroid scalp lotion) ไปทาวันละ 1-2 ครั้ง
4. การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงิน ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบหรือรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะความเครียด การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
- อาบน้ำโดยใช้สบู่เด็กอ่อน หรืออาจใช้สบู่สำหรับผิวแห้งมาก (สบู่ผสมน้ำมัน) ในบริเวณผิวหนังส่วนที่มีรอยโรค
- อาบแดดอ่อน ๆ ทุกวันตามคำแนะนำของแพทย์
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ
ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดี - ควรไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ ที่เป็นอยู่เลวร้ายลง หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อมีความกังวลในอาการ
5. เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบซ้ำ ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
- หลีกเลี่ยงการซื้อยาชุด ยาสมุนไพร และยาลูกกลอนกินเอง เพราะอาจเกิดอาการแพ้ยาทำให้โรคกำเริบได้ หรือหากได้รับยาสเตียรอยด์ที่ผสมอยู่ในยาชุดหรือยาลูกกลอน ซึ่งแม้ว่าจะทำให้โรคทุเลาลงได้ แต่ถ้าหยุดใช้ยาก็อาจทำให้โรคกำเริบรุนแรงได้ โดยทั่วไปแพทย์จะหลีกเลี่ยงการให้ยาสเตียรอยด์ชนิดกินแก่ผู้ป่วย แต่จะให้ใช้สเตียรอยด์ชนิดทาหรือฉีดเฉพาะที่แทน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบหลังจากหยุดยา
- หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บหรือถูกขีดข่วนที่ผิวหนัง
- งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดหลับอดนอน หรือตรากตรำทำงานหนักจนเกินไป
- พยายามอย่าให้เกิดภาวะเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยการหันมาออกกำลังกายเป็นประจำ ทำสมาธิ ฝึกโยคะ ชี่กง รำมวยจีน หางานอดิเรกทำ เป็นต้น
- ควรอาบแดดหรือให้ผิวหนังได้ถูกแสงแดดบ้าง แต่ไม่ควรให้ถูกแสงแดดนานเกินไป ยกเว้นในรายที่แพ้แดด ควรหลีกเลี่ยงการถูกแดด
6. การใช้อาหารและสมุนไพรบำบัด
- การใช้อาหารบำบัด
อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเรามีสุขภาพดีหรือไม่ดีก็ได้ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรารับประทานเข้าไป ในปัจจุบันมีงานวิจัยและผลสรุปจากนักวิทยาศาสตร์แล้วว่า การบำบัดโรคภัยไข้เจ็บด้วยอาหารเป็นสิ่งทีทำแล้วเห็นผลได้รวมถึงโรคสะเก็ดเงินด้วย
หลักสำคัญที่จะช่วยให้ดีขึ้นได้อย่างถาวรยาวนาน คือ เรื่องการรักษาสมดุลกรดด่าง ดังนั้น การทานอาหารจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้สะเก็ดเงินที่ศีรษะดีขึ้นได้เร็วจากภายในสู่ภายนอก อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ค่อนข้างใช้เวลานาน คนไข้ต้องมีความอดทนและมีวินัยในการเลือกทานอาหาร จึงจะประสบความสำเร็จแและหายจากสะเก็ดเงินได้ รายละเอียดเพิ่มเติม อาหารต้านสะเก็ดเงิน
- การใช้สมุนไพร
สมุนไพรที่ใช้รักษาสะเก็ดเงินต้องเป็นตำรับยา คือ มีส่วนผสมของสมุนไพรชนิดต่างๆเพื่อให้มีการเสริมฤทธิ์และหักล้างความเป็นผิดของสมุนไพรบางตัวออกไป จะเรียกว่าเป็นสูตรก็ได้ อย่างไรก็ตามสูตรสมุนไพรสะเก็ดเงินไม่ได้มีข้อมูลที่แน่ชัดนัก ผู้ที่ทราบมักจะเป็นแพทย์แผนไทยและแผนจีนที่มีประสบการณ์และเคยรักษาคนไข้สะเก็ดเงินมาก่อน ดังนั้น การใช้ยาจึงต้องปรึกษาแพทย์เหล่านี้เสียก่อน
ทริคในการดูแลสะเก็ดเงินที่ศีรษะ
- โดยปกติแล้วผิวหนังบริเวณที่เป็นสะเก็ดเงินจะแห้ง แสบและมีลักษณะแข็ง การทำให้สะเก็ดเงินอ่อนลงและหลุดออกเป็นสิ่่งแรกที่เราควรทำเพื่อให้การใช้ยาทาจากภายนอกได้ผลเต็มที่ เพราะซึมเข้าสู่ผื่นสะเก็ดเงินได้เต็มที่
- ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผื่นสะเก็ดเงินอ่อนลงมักมีส่วนผสมของ Salicylic Acid ยูเรีย กรดแลคติค และฟีนอล ทาทิ้งไว้ตามเวลาที่แนะนำนานแค่ไหนขึ้นกับคำแนะนำการใช้ของแต่ละผลิตภัณฑ์ สะเก็ดเงินจะอ่อนตัวและหลุดลอกออกไปตอนที่เราล้างออกและสระผมด้วยแชมพู เวลาที่เห็นจะเหมาะสมในการใช้ผลิตภัณฑ์คือ เวลาก่อนนอน เราอาจจะทาผลิตภัณฑ์ก่อนนอน เสร็จแล้วนำหมวกอาบน้ำมาครอบไว้ก็ได้
- การใช้น้ำอุ่นล้างบนศีรษะ(ไม่ใช่น้ำร้อน)และตบศีรษะเบาๆเหมือนช่างสระผมทำที่ร้านตัดผม จะช่วยให้สะเก็ดเงินหลุดออกได้ง่ายขึ้น
- ใช้โลชั่น ครีม น้ำยา น้ำมันหรือขี้ผึ้ง (โลชั่น ครีมและขี้ผึ้งต้องเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับสะเก็ดเงินเท่านั้น แต่ถ้าเป็นน้ำมันจะใช้เป็นน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นก็ได้) ทาบริเวณสะเก็ดเงิน จากนั้นทำให้หนังศีรษะชื้นด้วยการเอาผ้าชุบน้ำร้อนมาพันหรือปิดไว้ ถ้าจะให้ง่ายกว่านั้นอาจจะใช้เป็นหมวกอบไอน้ำแทนก็ได้ แต่ไม่ควรปรับอุณหภูมิให้ร้อนจนเกินไป
- หลังจากที่เราทำให้สะเก็ดเงินอ่อนลงแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาต้องเอาสะเก็ดเหล่านั้นออกด้วยการใช้แปรงหรือหวี โดยเลือกใช้แปรงหรือหวีที่ซี่ไม่คมและช่วยนวดหนังศีรษะ แปรงเบาๆก็จะช่วยให้สะเก็ดเงินหลุดออกได้ จากนั้นก็ล้างศีรษะด้วยน้ำอุ่นและสระผมได้ตามปกติ ระวังนิดนึง การใช้หวีไม่ถูกประเภทและใช้ไม่ถูกวิธี เช่น มีซี่คมเกินไปหรือแปรงหนังศีรษะแรงเกินไป อาจะทำให้เกิดการระคายเคือง อักเสบและติดเชื้อบนหนังศีรษะได้
- หลังจากทีสระผมเสร็จแล้วก็ถึงเวลาใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาบริเวณที่เป็น โดยหยดหรือทาลงบริเวณที่เป็นโดยตรง เชื่อว่าหลายคนคงเคยไปร้านเสริมสวย การทายา น้ำมัน ครีม ขี้ผึ้งหรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องมีการแหวกผมออกแล้วทาหรือหยดลงไป เพื่อให้เข้าถึงบริเวณที่เป็นสะเก็ดเงินบนศีรษะได้เต็มที่ ระวังอย่าให้เข้าตา
- หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ทาบนหนังศีรษะแล้ว ปัญหาที่มักจะเกิดตามมาคือ การทิ้งคราบหรือกลิ่นบนที่นอนหรือปลอกหมอน ผลิตภัณฑ์บางชนิดทิ้งคราบบนปลอกหมอนและมีกลิ่นแรง เช่น น้ำมันดิน หากไม่ต้องการให้ปลอกหมอนและผ้าปูสวยๆเปื้อนเลอะเทอะ เราอาจใช้ถุงพลาสติก ผ้าขนหนู ปูรองบริเวณที่สัมผัสกับศีรษะเวลานอน
- หากเรามีสะเก็ดเงิน บริเวณหน้าผาก คอ และหู ให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สะเก็ดเงินให้ถูกกับผิวบริเวณนั้น เพราะผลิตภัณฑ์บางตัวใช้บนศีรษะได้แต่ใช้กับผิวบริเวณเหล่านี้ไม่ได้
- อาการคันกับสะเก็ดเงินเป็นของคู่กัน ถ้าเรามีอาการคันศีรษะบริเวณที่เป็นสะเก็ดเงิน สาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากผิวหนังบริเวณนั้นแห้งและขาดความชุ่มชื้น จากอาการของโรคเองก็ดี จากผลิตภัณฑ์บางตัวที่เราใช้อยู่บางตัวก็ดี แนะนำให้ใช้ครีมนวดผมหลังสระ(สำหรับสะเก็ดเงิน)และทาน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันมะกอกเพิ่มเติมก็ได้
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม น้ำยาย้อมผม ดัดผมหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่อาจสร้างความระคายเคืองต่อหนังศีรษะ ซึ่งอาจทำให้อาการสะเก็ดเงินปะทุและลุกลามได้
เมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงินแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือห้ามเครียดและรักษาให้ถูกวิธีนะคะ แน่นอนว่าการรักษาอาจจะใช้เวลาสักนิด แต่ก็สามารถหายได้แน่นอนน้าสาวๆ
ที่มา: psoriasisctrl, medthai
มีประสบการณ์เขียนบทความเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ ความงามมากว่า 3 ปี โดยเฉพาะบทความด้านความสวยความงามของสาวๆ จะสนใจมากเป็นพิเศษ และหากสงสัยว่าทำไมต้อง little nomad? 'nomad' หมายถึงกลุ่มคนที่เดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ ใส่ 'little' เพิ่มเข้าไปเพื่อความน่ารักปุ๊กปิ๊ก เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ชอบเที่ยวมากกกก ซึ่งไม่ใช่แค่เที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แต่ยังหมายถึงการท่องโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อตามเทรนด์บิวตี้ เรื่องสวยๆ งามๆ อีกด้วย นี่แหละค่ะคือเรื่องที่เราสนใจ ไม่ว่าจะเรื่องดูแลหุ่น ผิวพรรณ ทางเราลองผิดลองถูกมาเยอะแล้ว เลยอยากมาแชร์เพื่อนๆ กัน!